อุทยานแห่งชาติตะรุเตา รวมมาทั้งประวัติ ที่พัก และการเดินทาง
พาไปทำความรู้จักกับอุทยานแห่งชาติตะรุเตา อัญมณีงามแห่งท้องทะเลอันดามัน และเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญของการเมืองไทย อุทยานแห่งชาติตะรุเตาอยู่ที่ไหน มีแหล่งท่องเที่ยวอะไรบ้าง ไปเที่ยวช่วงไหนดี เดินทางอย่างไร เรามีคำตอบ
อุทยานแห่งชาติตะรุเตา สถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลที่สวยงามอีกแห่งของท้องทะเลฝั่งอันดามัน หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของอุทยานแห่งนี้ ก็คือ เกาะหลีเป๊ะ นั่นเอง ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวสวย ๆ อีกเพียบ และยังเป็นพื้นที่ต้นกำเนิดตำนานโจรสลัดตะรุเตา เราจึงอยากพาไปทำความรู้จักกับอุทยานแห่งชาติตะรุเตากันให้มากขึ้น พร้อมทั้งเรียนรู้ประวัติศาสตร์และชี้เป้าจุดท่องเที่ยวสวย ๆ ไปเริ่มกันเลย
ภาพจาก Serra Photograph / Shutterstock.comอุทยานแห่งชาติตะรุเตาอยู่ที่ไหน อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ตั้งอยู่ในท้องทะเลอันดามัน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 931,250 ไร่ หรือ 1,490 ตารางกิโลเมตร ประกอบไปด้วย พื้นที่เกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวี และเกาะอื่น ๆ ในท้องที่ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล โดยมีที่ทำการอุทยานแห่งชาติตะรุเตาอยู่ที่ปากบารา และอ่าวพันเตมะละกา บนเกาะตะรุเตา ซึ่งห่างจากท่าเรือปากบารา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ประมาณ 20-60 กิโลเมตร
พระอาทิตย์ตกดินบริเวณอ่าวพันเตมะละกา เกาะตะรุเตา
ประภาคารบริเวณอ่าวพันเตมะละกา ที่ทำการอุทยานแห่งชาติตะรุเตา
เกาะโจรสลัดตะรุเตา
พื้นที่บริเวณเกาะตะรุเตา และเกาะโดยรอบนั้นค่อนข้างห่างจากแผ่นดินใหญ่ จึงทำให้มีสภาพทางท้องทะเลและธรรมชาติป่าเขาที่สวยงามอุดมสมบูรณ์มาก มาพร้อมกับชายหาดและอ่าวงดงาม แต่เดิมจึงเรียกกันว่า “ตะโละเตรา” ภาษามลายู แปลว่า มีอ่าวมาก
ต่อมาในปี พ.ศ. 2479 ได้มีประกาศพระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นโจรผู้ร้าย กรมราชทัณฑ์จึงหาสถานที่ที่มีภูมิประเทศเหมาะสม ซึ่งเกาะตะรุเตาเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด และถูกจัดตั้งขึ้นเป็นทัณฑสถานในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 มีการบุกเบิกจนแล้วเสร็จในช่วงปี พ.ศ. 2481 ก็เป็นทัณฑสถานและเป็นนิคมฝึกอาชีพของนักโทษเด็ดขาด และนักโทษผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย
เส้นทางศึกษาธรรมชาติและพิพิธภัณฑ์ทัณฑสถานบนเกาะตะรุเตา
ปลายปี พ.ศ. 2482 ทางรัฐบาลไทยก็ได้ส่งนักโทษการเมืองจากคดีกบฏบวรเดช (พ.ศ. 2476) และกบฏนายสิบ (พ.ศ. 2478) จำนวน 70 นาย มายังเกาะตะรุเตา ให้ถูกกักบริเวณไว้ที่อ่าวตะโละอุดัง จากนั้นเพียงราว ๆ 2 ปี ก็เกิดสงครามเอเชียบูรพา (พ.ศ. 2484-2488) ทำให้เกาะตะรุเตาโดนตัดขาด ขาดแคลนอาหาร ยา และสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นต่าง ๆ จนทำให้ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2487 มีผู้คุมนักโทษทำตัวเป็นโจรสลัด ปล้นสะดมจากเรือสินค้าที่แล่นผ่านมาในบริเวณใกล้เคียง กลายเป็นที่มาของโจรสลัดเกาะตะรุเตา
สถานการณ์เริ่มบานปลาย มีเรือมากมายโดนปล้นสะดม รัฐบาลไทยจึงต้องจัดการเด็ดขาด โดยเข้าปราบปรามร่วมกับทหารอังกฤษในช่วงปี พ.ศ. 2489 และกรมราชทัณฑ์ก็ยกเลิกนิคมฝึกอาชีพตะรุเตาในสองปีถัดมา
เกาะตะรุเตาและพื้นที่เกาะเล็กเกาะน้อยโดยรอบได้ถูกจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติตะรุเตาเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2517 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 8 ของไทย
อ่าวตะโละวาว บนเกาะตะรุเตา
ASEAN Heritage Parks
อุทยานแห่งชาติตะรุเตาได้รับการประกาศจากประเทศสมาชิกอาเซียนให้เป็น ASEAN Heritage Parks หรือ อุทยานมรดกแห่งอาเซียน เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 ในฐานะพื้นที่อนุรักษ์ที่มีความสำคัญสูงที่เป็นตัวแทนระบบนิเวศของภูมิภาค
สถานที่ท่องเที่ยวภายในอุทยานแห่งชาติตะรุเตา
พื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติตะรุเตา จะเป็นท้องทะเลและเกาะต่าง ๆ จึงทำให้มีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลสวยงามมากมาย เช่น
– เกาะหลีเป๊ะ
อยู่ห่างจากเกาะอาดังไปทางทิศใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่ไปมากถึง 85 กิโลเมตร มีรูปร่างคล้ายกับบูมเมอแรง มีพื้นที่เพียงแค่ราว ๆ 3 กิโลเมตร แต่มีความสวยงามอันดับต้น ๆ ของท้องทะเลอันดามัน เพราะหาดทรายขาวสะอาด เนียนละเอียด น้ำทะเลใสแจ๋ว มองเห็นแนวปะการังใต้ทะเลได้ลึกหลายเมตร บนเกาะมี 4 หาด ได้แก่ หาดพัทยา, หาดซันไรท์, หาดคาร์มา และหาดซันเซ็ท ครบครันทั้งที่พัก ร้านค้า และร้านอาหาร
หาดพัทยา เกาะหลีเป๊ะ
หาดซันไรท์ เกาะหลีเป๊ะ– เกาะตะรุเตา
สถานที่ตั้งที่ทำการอุทยาน เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในอุทยานแห่งชาติตะรุเตา บริเวณทางด้านทิศใต้ ห่างจากเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย เพียงแค่ 4.8 กิโลเมตรเท่านั้น บนเกาะตะรุเตามีจุดท่องเที่ยวมากมาย เช่น อ่าวพันเตมะละกา, อ่าวตะโละวาว, อ่าวสน, ถ้ำจระเข้, จุดชมวิวผาโต๊ะบู, สถานีรถไฟตรัง, อ่าวตะโละอุดัง, พิพิธภัณฑ์ทัณฑสถาน, อ่าวเมาะและ และน้ำตกลูดู เป็นต้น
อ่าวเมาะและ บนเกาะตะรุเตา– ร่องน้ำจาบัง
ตั้งอยู่ระหว่างเกาะอาดังและเกาะราวี เป็นจุดที่มีแนวปะการัง 7 สี สวยงาม ทั้งสีชมพูอ่อน, สีม่วง และสีแดงไล่อ่อนเข้มกันไป พร้อมทั้งมีดอกไม้ทะเล แส้ทะเล ดาวขนนก และปลาสวยงามมากมาย เหมาะแก่การดำน้ำตื้นและดำน้ำลึก
ปะการังอ่อนสีสันสวย ๆ บริเวณร่องน้ำจาบัง– เกาะอาดัง
ที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ 5 (แหลมสน) เป็นเกาะขนาดใหญ่รองจากเกาะตะรุเตา กว้าง 5 กิโลเมตร และยาว 6 กิโลเมตร มีหาดทรายขาวสะอาด พร้อมด้วยพื้นที่ป่าเขาอุดมสมบูรณ์ ในอดีตเป็นจุดซ่องสุมของโจรสลัด ปล้นสะดมเรือ ด้วยมีภูเขาสูงกว่า 690 เมตร ซึ่งสามารถใช้เป็นจุดสังเกตการณ์ได้กว้าง 360 องศา เรียกว่า ผาชะโด บนเกาะไม่มีที่พักเอกชน มีแค่บ้านพักของอุทยานและจุดกางเต็นท์
จุดชมวิวผาชะโด บนเกาะอาดัง มองเห็นเกาะหลีเป๊ะ– เกาะราวี
ใหญ่เป็นอันดับ 3 รองจากเกาะตะรุเตา และเกาะอาดัง มีหาดทรายขาว น้ำใส เงียบสงบ สามารถกางเต็นท์ได้ พร้อมทั้งดำน้ำตื้น และดำน้ำลึก
หาดทรายขาวบนเกาะราวี– เกาะไข่
ตั้งอยู่ระหว่างเกาะตะรุเตาและเกาะอาดัง ห่างจากเกาะตะรุเตา 25 กิโลเมตร มีลักษณะโดดเด่น คือ มีซุ้มประตูหินธรรมชาติที่ทอดโค้งจากผืนทรายจรดน้ำ หาดทรายขาวละเอียด เงียบสงบ เป็นจุดวางไข่ของเต่าทะเล
เกาะไข่
– เกาะหินซ้อน
เกาะหินเล็ก ๆ มีความสวยงามตรงที่ก้อนหินขนาดใหญ่ตั้งซ้อนกัน 2 ก้อนโดยที่ไม่ล้มลงมา
– เกาะหินงาม
เกาะหินขนาดเล็ก โดดเด่นด้วยหาดหินสีดำก้อนกลมมนเกลี้ยง พอคลื่นทะเลซัดสาด ก็จะสะท้อนแสงเป็นประกายแวววับ
เกาะหินงาม
เที่ยวอุทยานแห่งชาติตะรุเตาช่วงไหนดี
ช่วงที่เหมาะสมแก่การท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติตะรุเตา จะอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน – กลางเดือนพฤษภาคม ของทุกปี ด้วยเป็นช่วงที่คลื่นลมสงบ ท้องฟ้าปลอดโปร่ง ปลอดภัยต่อการเดินทางด้วยเรือ
ที่พักอุทยานแห่งชาติตะรุเตา
สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของอุทยานแห่งชาติตะรุเตา จะมีหลัก ๆ อยู่ด้วยกัน 2 แห่ง คือ เกาะตะรุเตา และเกาะหลีเป๊ะ โดยบนเกาะตะรุเตาจะมีบ้านพักอุทยานและจุดกางเต็นท์ ส่วนที่เกาะหลีเป๊ะจะมีที่พักเอกชนให้เลือกมากกว่า 10 แห่ง และยังสามารถจองบ้านพักอุทยานและกางเต็นท์ที่เกาะอาดังได้ด้วย
การเดินทางไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติตะรุเตา
นักท่องเที่ยวจะต้องไปขึ้นเรือโดยสารที่บริเวณท่าเรือปากบารา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล เรือที่ให้บริการส่วนใหญ่จะเป็นสปีดโบ๊ท มีทั้งเส้นทางท่าเรือปากบารา-เกาะหลีเป๊ะ และท่าเรือปากราบา-เกาะตะรุเตา-เกาะหลีเป๊ะ ราคาไป-กลับ เริ่มต้นที่คนละ 500 บาท
ภาพจาก ploypemuk / Shutterstock.com
สอบถามรายละเอียดอื่น ๆ
นักท่องเที่ยวที่สนใจจะเดินทางไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติตะรุเตา สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา โทรศัพท์ 0 7478 3597 หรือ เฟซบุ๊ก อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จังหวัดสตูล Tarutao National Park
ใกล้ถึงฤดูกาลท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติตะรุเตาอีกครั้งแล้ว ถ้ามีความสนใจจะไปเที่ยว แนะนำว่าให้วางแผนล่วงหน้า เพราะที่พักบนเกาะมีจำกัด 🙂
หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง
ขอบคุณข้อมูลจาก
park.dnp.go.th, เฟซบุ๊กอุทยานแห่งชาติตะรุเตา จังหวัดสตูล Tarutao National Park, ททท.