12 อาหารลดบวม ขับน้ำส่วนเกินจากร่างกาย พร้อมวิธีลดโซเดียม
บวมน้ำ ลดยังไงดี มาดูอาหารที่ช่วยลดบวมได้ และวิธีลดโซเดียมในร่างกายกันเถอะ !
อาการบวมน้ำจริง ๆ แล้วมีสาเหตุหลายอย่าง แต่ที่เจอกันง่ายและบ่อยที่สุดคือภาวะบวมน้ำจากการกินอาหารโซเดียมสูงมากเกินไป ซึ่งเจ้าโซเดียมนี่แหละปัญหาใหญ่ เพราะนอกจากจะทำให้ตัวบวมจากการคั่งของเกลือและน้ำในร่างกายแล้ว ยังเป็นปัจจัยของการเกิดโรคเรื้อรัง อย่างโรคไต และมีผลทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงด้วย ซึ่งการลดโซเดียมในร่างกายสามารถขับออกได้ทางเหงื่อ ปัสสาวะ และอุจจาระ ทว่าหากเราอยากลดบวมทำยังไงดี จริง ๆ ก็มีอาหารที่ช่วยลดอาการบวมอยู่นะ มาดูกันอาหารลดบวม ขับน้ำส่วนเกินในร่างกาย กินอะไรดี เวลาที่กินอาหารโซเดียมสูง อย่างอาหารสำเร็จรูป อาหารแปรรูป หรือฟาสต์ฟู้ดทั้งหลาย ตื่นมาจะหน้าบวม ตัวบวม น้ำหนักขึ้นจากการคั่งของน้ำและเกลือในร่างกาย ซึ่งเราสามารถลดบวมได้ด้วยอาหารเหล่านี้
1. แตงกวา
แตงกวามีน้ำเป็นส่วนประกอบเยอะ และยังมีสารโพลีฟีนอลที่ช่วยขับน้ำส่วนเกินในร่างกาย ลดอาการบวม ทั้งยังมีสรรพคุณช่วยปรับสมดุลน้ำในร่างกายด้วย และแน่นอนค่ะว่า แตงกวาก็พกประโยชน์มามากมาย ทั้งช่วยให้ผิวสวย ช่วยในการขับถ่าย และอีกเพียบ !
2. แตงโม
แตงโมเป็นผลไม้ฉ่ำน้ำที่รสชาติอร่อย มีน้ำเยอะ มีไฟเบอร์ มีสารต้านอนุมูลอิสระ และมีประโยชน์ในเรื่องขับน้ำส่วนเกินในร่างกาย ปรับสมดุลแร่ธาตุต่าง ๆ ในร่างกายให้คงที่ จึงช่วยลดอาการบวมน้ำได้
3. ขึ้นฉ่าย
ผักกลิ่นฉุนอย่างขึ้นฉ่ายมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ช่วยขับน้ำส่วนเกินในร่างกาย ลดบวม ขับโซเดียมในร่างกาย และสรรพคุณขึ้นฉ่ายยังช่วยลดความดันโลหิตได้ด้วย
4. ฟักเขียว
สรรพคุณของฟักเขียวมีรสเย็น ฉ่ำน้ำ แก้กระหาย มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ใช้แก้อาการบวมน้ำ ปัสสาวะไม่ออก และลดความร้อนในร่างกาย
5. หน่อไม้ฝรั่ง
หน่อไม้ฝรั่งมีกรดอะมิโนแอสพาราจีน มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ขับน้ำส่วนเกินและขับโซเดียมออกจากร่างกาย จัดเป็นอาหารลดบวมที่น่าสนใจ เพราะสรรพคุณของหน่อไม้ฝรั่งก็จัดว่าเด็ดอยู่
6. กล้วย
กล้วยเป็นผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง ช่วยลดความดันโลหิต ปรับสมดุลน้ำ ของเหลว และอิเล็กโทรไลต์ของร่างกาย ช่วยลดอาการบวมน้ำได้
7. ส้ม
นอกจากส้มจะเป็นผลไม้วิตามินซีสูงแล้ว ยังมีโพแทสเซียมค่อนข้างสูง ช่วยปรับสมดุลของเหลวในร่างกาย และลดอาการบวมน้ำด้วย
8. กีวี
กีวีมีเอนไซม์ช่วยย่อยอาหาร ลดอาการท้องอืด และยังมีโพแทสเซียมสูง ช่วยลดความดัน ควบคุมปริมาณของเหลวภายในเซลล์ ลดอาการบวมน้ำได้เช่นกัน
9. สับปะรด
ผลไม้ชนิดนี้มีสรรพคุณช่วยย่อย ด้วยเอนไซม์ช่วยย่อยเฉพาะตัว และยังมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ขับน้ำส่วนเกินในร่างกาย ลดแก๊สในกระเพาะอาหาร แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยลดอาการบวมน้ำ รวมไปถึงลดอาการบวมจากการอักเสบ และทำให้แผลหายเร็ว
10. มะละกอ
มะละกอมีเอนไซม์ช่วยย่อย ช่วยลดกรด แก๊ส ในกระเพาะอาหาร และช่วยกระตุ้นการขับถ่าย ทำให้อาการพุงป่อง ท้องอืด ดูตัวบวม ๆ ของร่างกายทุเลาลง
11. โยเกิร์ต
อาการบวมที่เกิดจากระบบย่อยอาหารไม่ดี มีกรดเกิน แก๊สเกิน มีอาการพุงป่อง พุงยื่นหลังมื้ออาหาร ก็ใช้โยเกิร์ตแก้อาการบวมได้ โดยโยเกิร์ตมีจุลินทรีย์ชนิดดีที่ช่วยในการย่อยอาหาร มีโพรไบโอติกส์ช่วยปรับสมดุลระบบย่อยให้ทำงานได้ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ควรเลือกกินโยเกิร์ตรสธรรมชาติ ไขมันต่ำ น้ำตาลน้อยด้วยนะ
12. น้ำเปล่า
น้ำเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของร่างกาย และหากใครคิดว่าบวมน้ำอยู่แล้วไม่ควรดื่มน้ำเยอะ ขอให้คิดใหม่เลยค่ะ เพราะการดื่มน้ำจะช่วยขับปัสสาวะ ช่วยในการขับถ่าย ระบายโซเดียมในร่างกายออกไปกับระบบขับถ่ายของเรา และยังช่วยปรับสมดุลแร่ธาตุ ของเหลวในเซลล์ร่างกายได้อีกด้วย ดังนั้นอย่าลืมดื่มน้ำให้ได้วันละ 8 แก้ว นะคะ
นอกจากนี้เรายังมีวิธีลดโซเดียมมาฝากกันด้วย ตามนี้เลยวิธีลดโซเดียม
1. ลดกินเค็ม ลดอาหารรสจัด โดยไม่ควรได้รับโซเดียมเกิน 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบกับน้ำปลา 6 ช้อนชา
2. ลดอาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป และอาหารขยะทั้งหลาย รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
3. ทำอาหารกินเอง เราจะได้กะปริมาณโซเดียมในอาหารไม่ให้มากเกินไปได้ และควรปรุงเป็นขั้นตอนสุดท้าย ตอนที่อาหารทุกอย่างสุกเรียบร้อย เพื่อให้รสชาติของเนื้อสัตว์ และผักออกมาให้เต็มที่ เราจะได้ใส่เครื่องปรุงน้อยลง
4. ใช้รสเปรี้ยวเสริมเพื่อลดการปรุงเค็ม
5. ใช้เครื่องปรุงโซเดียมต่ำ แต่ผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคไตควรระวัง เพราะผลิตภัณฑ์โซเดียมต่ำจะมีโพแทสเซียมสูง ส่งผลกระทบต่อโรคที่เป็นอยู่ได้
6. ลดการกินน้ำแกง น้ำผัด น้ำซุป เพราะมีสัดส่วนของโซเดียมอยู่มากในน้ำแกงเหล่านี้
7. หลีกเลี่ยงเครื่องจิ้มต่าง ๆ
8. ดูฉลากโภชนาการ เลือกกินอาหารที่มีโซเดียมไม่เกิน 140 มิลลิกรัม/ 1 หน่วยบริโภค หรือ 6%
9. ลดความถี่ในการกินอาหารแปรรูปต่าง ๆ เช่น ปลากระป๋อง แหนม หมูยอ ไส้กรอก เป็นต้น
10. ปรับสมดุลในการกินอาหาร หากมื้อไหนกินอาหารโซเดียมสูงไปแล้ว มื้อถัดไปควรกินอาหารโซเดียมต่ำ อาหารที่ปรุงน้อย ๆ เช่น ไก่อบ หมูอบ ปลาลวก ปลานึ่ง เป็นต้น
11. หมั่นออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายขับโซเดียมออกมาทางเหงื่อ
12. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
13. นอนยกเท้าขึ้นสูงกว่าศีรษะ เพื่อให้น้ำที่คั่งอยู่ที่ขาและเท้าไหลกลับสู่ไต รอการกำจัดออกได้ง่ายขึ้น
แต่หากใครไม่มั่นใจว่าอาการบวมของตัวเองเป็นภาวะบวมน้ำหรืออ้วน ลองมาเช็กกันหน่อยไหมล่ะ
– บวมน้ำหรือแค่อ้วน ชวนให้สงสัย แก้ยังไงให้หายบวม !
ขอบคุณข้อมูลจาก
ศูนย์ศรีพัฒน์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, Thai PBS, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, รามา แชนแนล