รู้จัก 5 ประเภทกระดาษทิชชู แบบไหนใช้ทำอะไรจะได้ใช้ถูก
กระดาษทิชชูเป็นของใช้ในครัวเรือนที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ใข้ตั้งแต่เช็ดหน้าเช็ดทำความสะอาดร่างกาย ในห้องน้ำ ห้องครัว ฯลฯ แต่ทราบหรือไม่ว่าจริงๆ แล้วกระดาษทิชชูนั้นมีกี่ประเภท และกระดาษทิชชูแต่ละชนิดใช้งานแตกต่างกันอย่างไร และถ้าใช้ไม่ถูกชนิดจะเป็นอย่างไร
1.กระดาษชำระ (Toilet paper)
มีลักษณะเป็นม้วนๆ อย่างที่เราเห็นในห้องน้ำกระดาษชำระประเภทนี้ทำจากเยื่อบริสุทธิ์ที่ได้จากต้นไม้ และเยื่อเวียนใหม่จากกระดาษรีไซเคิลมีทั้งแบบเป็นสีขาวสะอาด เป็นแบบสี หรือมีลวดลาย รวมทั้งยังมีหลายขนาด
หน้าที่ : ใช้ชำระส่วนขับถ่ายของเรา ดังนั้นไม่ควรนำไปเช็ดหน้าเช็ดตา ไม่ควรนำไปห่ออาหาร ไม่ควรใช้รองอาหารหรือไม่ควรใช้ซับน้ำมันเพราะในกระบวนการผลิตมีการใช้สารจำพวกสารโซเดียมไฮดรอกไซด์ (โซดาไฟ) และสารไดออกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งและยังคงอยู่ในเนื้อกระดาษ
2. กระดาษเช็ดหน้า (Tissue Paper)
ใช้สำหรับซับหน้าหลังจากการล้างหน้าหรือล้างเครื่องสำอาง มีความเหนียว-นุ่ม เป็นพิเศษใช้แล้วจึงไม่ควรทิ้งในชักโครก จะทำให้ท่อตันได้ง่าย หากสังเกตง่ายๆ ถ้าเป็นกระดาษสำหรับเช็ดหน้ามักจะบรรจุอยู่ในกล่องกระดาษสี่เหลี่ยมผืนผ้าสามารถหยิบออกมาใช้ได้สะดวก
หน้าที่ : ใช้เช็ดหน้า เช็ดทำความสะอาดเครื่องสำอาง ดังนั้นเนื้อสัมผัสจึงนุ่มป้องกันการระคายเคือง
3. กระดาษเช็ดปาก (Table paper napkins)
ใช้สำหรับบนโต๊ะอาหาร ใช้แทนผ้าเช็ดปากสำหรับการรับประทานอาหารไม่ควรใช้กระดาษชำระแทน – ที่เห็นใช้กันมากทั่วไป คุณสมบัติของเนื้อกระดาษจึงมีความอ่อนนุ่มใกล้เคียงกระดาษเช็ดหน้า แต่ต้องเหนียวและไม่เปื่อยยุ่ยน้ำง่ายและไม่ควรทิ้งลงในชักโครกเพราะจะทำให้ท่อน้ำตันได้ง่าย
หน้าที่ : ใช้เช็ดทำความสะอาดริมฝีปาก
4. กระดาษเช็ดมือ (Paper Hand Towel)
สำหรับกระดาษเช็ดมือนั้นเราสามารถเห็นได้ในห้องน้ำสาธารณะ โรงพยาบาล โรงแรมซึ่งเป็นกล่องที่ติดตามผนังมีความเหนียวไม่เปื่อยยุ่ยหรือขาดง่ายเมื่อสัมผัสกับน้ำซึมซับน้ำได้ดีผลิตเพื่อใช้กับผิวหนัง แต่ไม่ควรนำไปสัมผัสกับอาหารหรือใช้ซับน้ำมันจากอาหาร
หน้าที่ : ใช้เช็ดมือ
5. กระดาษอเนกประสงค์ (Paper Towel)
เป็นกระดาษที่มักใช้ในงานครัวเป็นส่วนใหญ่สำหรับใช้ในงานบ้านทั่วไปแทนผ้าเช็ดพื้น หรือผ้าเช็ดโต๊ะใช้ซับน้ำมันจากการทอดได้ แต่ไม่ควรนำมาใช้กับผิวหนัง
หน้าที่ : ใช้เช็ดทำความสะอาดสิ่งสกปรก ซับน้ำมันจากการทอด
ข้อมูลบางส่วนจาก : สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อดีตอธิบดีกรมอนามัย