โรคแพ้อากาศ น้ำมูกไหล จาม เมื่ออากาศเปลี่ยน ดูแลตัวเองยังไงดี

เปลี่ยนฤดูทีไร อาการจาม คัดจมูก ด้วยโรคภูมิแพ้อากาศมาเยือนทุกที เจอแบบนี้ก็เหนื่อยทั้งกายและใจ มาหาวิธีรักษากันดีกว่า

แพ้อากาศ

        บางทีการที่เราน้ำมูกไหล หรือคัดจมูกเมื่ออากาศเปลี่ยน อาจไม่ได้เป็นเพราะหวัดเสมอไป แต่เกิดจากโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ หรือโรคแพ้อากาศ ที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Allergic rhinitis ก็ได้ ลองมาทำความรู้จักโรคนี้กันเพิ่มอีกนิดไหม จะได้เช็กว่าที่เราป่วยใช่โรคแพ้อากาศหรือเปล่า แล้วถ้าเป็นควรรักษายังไงดี

โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ คืออะไร อากาศเปลี่ยนทีไรเป็นทุกที

          โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ (Allergic rhinitis) หรือโรคแพ้อากาศ คือโรคที่มีการอักเสบและบวมของเนื้อเยื่อในจมูก กรณีเป็นเรื้อรังมักเกิดจากโรคภูมิแพ้ แต่หากไม่ได้เป็นเรื้อรังอาจไม่ได้เกิดจากโรคภูมิแพ้ก็ได้ โดยโรคนี้มีสาเหตุมาจากปัจจัย ดังนี้

          – กรรมพันธุ์ ถ้าคนในครอบครัวเป็นภูมิแพ้ โดยเฉพาะพ่อและแม่ ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคนี้เพิ่มขึ้นได้

          – สารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ ขนของแมวและสุนัข ควันบุหรี่ ควันจากรถยนต์ เป็นต้น

          – ปัจจัยอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ, อากาศเปลี่ยน หรือมลภาวะต่าง ๆ

* โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ อาการเป็นยังไง

แพ้อากาศ

เมื่อมีการอักเสบของเนื้อเยื่อในจมูก อาจทำให้มีอาการ ดังนี้

          * จาม

          * คัดจมูก

          * น้ำมูกไหล โดยเป็นน้ำมูกที่มีลักษณะใส หรือเหนียวใส

          * คันจมูก

          * มีเสมหะในลำคอ

          * คันตา  

          * น้ำตาไหล

          * ตาบวม  

          * เสียงเปลี่ยน

          * จมูกไม่ได้กลิ่น

          * หูอื้อ หรือมีเสียงดังในหู   

          ทั้งนี้ คณะทำงานขององค์การอนามัยโลกได้เสนอให้แบ่งชนิดของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ เป็น 2 ชนิดตามความรุนแรงของโรค โดยแบ่งออกตามนี้

1. โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ชนิดมีอาการเป็นช่วง ๆ (Intermittent)

          ผู้ป่วยจะมีอาการเฉพาะเวลาเช้า หรือกลางคืน ที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน และเป็นประมาณวันละ 1-2 ชั่วโมง ติดต่อกันน้อยกว่า 4 วันต่อสัปดาห์

2. โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ชนิดอาการเป็นคงที่ (Persistent)

          ผู้ป่วยที่มีอาการตลอดเวลา มากกว่า 4 วันต่อสัปดาห์ และเป็นเกิน 1 เดือน

          อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการที่ไม่ใช่อาการโดยตรงของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ เช่น

          – รู้สึกหอบเหนื่อย จากการหายใจไม่สะดวก

          – ปวดศีรษะเรื้อรัง

          – ไอเรื้อรัง

          – กลิ่นปากแรง

          – คอแห้ง เจ็บคอเรื้อรัง

          – ท้องอืด ท้องเฟ้อ คล้ายอาหารไม่ย่อย

          – เพลียง่ายหรือหลับง่ายในเวลากลางวัน

          – เยื่อบุริมฝีปากหรือมุมปากอักเสบเรื้อรัง

          – การอักเสบของผิวหนังรอบดวงตา หนังตาคล้ำจากการขยี้ตาบ่อย ๆ

          – มีอาการผิดปกติทางหู และระบบประสาทการทรงตัว

          หรือหากเป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ตั้งแต่เด็ก ๆ จนต้องหายใจทางปากอยู่บ่อยครั้ง อาจทำให้รูปทรงใบหน้าเปลี่ยนไป เช่น ใบหน้าส่วนล่างยาวกว่าปกติ เพดานปากแคบและโค้งสูง เมื่อยิ้มจะมองเห็นเหงือกบนได้มาก หรืออาจมีความปกติของการสบฟันได้ในบางคน
* โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ กับภาวะแทรกซ้อนที่อาจมาด้วยกัน

ภาวะแทรกซ้อนของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ที่พบบ่อย ได้แก่

          – โรคไซนัสอักเสบ

          – ทอนซิลอักเสบ

          – ผนังคออักเสบเรื้อรัง

          – หูชั้นกลางอักเสบ

          – โรคหืด

          – ริดสีดวงจมูก

          – เยื่อบุจมูกอักเสบจากการใช้ยาหดหลอดเลือดนานเกินไป

          – นอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ รักษาได้ไหม

แพ้อากาศ

          แม้จะยังไม่มีวิธีรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ให้หายขาดได้ เพราะโรคนี้จะมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ เมื่อเจอสิ่งกระตุ้น แต่เราสามารถดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ และบรรเทาอาการได้ไม่ยาก ดังนี้

1. หลีกเลี่ยงสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้

          ควรหลีกเลี่ยงหรือกำจัดสิ่งที่แพ้ เช่น หมั่นทำความสะอาดบ้านและบริเวณรอบ ๆ บ้านให้ปราศจากฝุ่น หลีกเลี่ยงการเลี้ยงสัตว์หากมีอาการแพ้ขนสัตว์ หลีกเลี่ยงการมีตุ๊กตาขนปุย ๆ ในห้องนอน พยายามไม่เข้าใกล้ดอกไม้ทุกชนิด ทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศเพื่อลดฝุ่น เชื้อรา และแบคทีเรีย หลีกเลี่ยงอากาศร้อนจัด เย็นจัด เป็นต้น

2. ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ

          การออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง กระตุ้นภูมิคุ้มกัน จะช่วยให้อาการแพ้อากาศบรรเทาลงได้ และยังช่วยป้องกันความเจ็บป่วยด้วยโรคอื่น ๆ อีกต่างหาก นอกจากนี้ควรพักผ่อนให้เพียงพอ อย่านอนดึกจนเป็นนิสัย เพราะการพักผ่อนที่ดีก็มีส่วนช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายได้มากเลยทีเดียว

3. การล้างจมูก เพื่อช่วยให้โพรงจมูกโล่งขึ้น

แพ้อากาศ

4. รักษาด้วยยา

          ยาที่ใช้บรรเทาอาการโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ มีอยู่ 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ยาต้านการอักเสบ ที่ช่วยลดการอักเสบของเยื่อบุจมูก ยาต้านฤทธิ์สารก่ออาการอักเสบ และยาต้านฮิสตามีน ช่วยลดอาการจาม น้ำมูกไหล คันจมูก และคันตา จากอาการแพ้อากาศ โดยตัวยาที่นิยมใช้รักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ เช่น

          – ยาต้านฮิสตามีน (Antihistamines) หรือยาแก้แพ้ ที่จะช่วยลดอาการจาม น้ำมูกไหล คันตา

          – ยาหดหลอดเลือด (Decongestant)

          – ยาสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ทั้งชนิดกิน (Oral steroids) และยาสเตียรอยด์พ่นจมูก (Intranasal steroids)

          – ยาต้านโคลิเนอร์จิก (Anticholinergic drug) เช่น Ipratropium bromide

          – ยาต้านลิวโคไตรอีน (Anti-leukotrienes) ช่วยลดการอักเสบของเยื่อบุจมูก

5. ฉีดวัคซีนภูมิแพ้ (Immunotherapy)

          หากมีอาการมาก ไม่สามารถรักษาด้วยยา หรือมีปัญหาในการใช้ยารักษา หรือเป็นโรคภูมิแพ้หลายชนิดพร้อม ๆ กัน แพทย์อาจให้วัคซีนภูมิแพ้ทีละน้อยแล้วค่อย ๆ เพิ่มโดสเพื่อให้ร่างกายผู้ป่วยสร้างภูมิต้านทานต่อสิ่งที่แพ้ โดยอาจจะต้องฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 ปี และหากได้ผลดีอาจต้องฉีดต่อเนื่องไปอีก 3-5 ปี

6. การผ่าตัด

          หากรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีภาวะอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ผนังกั้นช่องจมูกคด เยื่อบุจมูกบวมผิดปกติ ริดสีดวงจมูก ไซนัสอักเสบ และรักษาด้วยยาไม่หาย แพทย์อาจเลือกรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ด้วยการผ่าตัด

โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ อาการต่างจากหวัดยังไง

          โรคแพ้อากาศมักจะเป็น ๆ หาย ๆ โดยเฉพาะเมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป และอาการส่วนใหญ่จะมีแค่น้ำมูกไหลแบบใส ๆ จาม และคัดจมูก ไม่มีไข้ ไม่มีอาการปวดเมื่อยเนื้อตัว เหมือนโรคหวัดที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส

          หากพบว่าเป็นโรคแพ้อากาศก็ควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่ตัวเองแพ้ให้ไกล และปรึกษาแพทย์ถึงวิธีรักษาโรคอย่างเหมาะสม รวมไปถึงการดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง เพื่อไม่ให้อาการจมูกอักเสบภูมิแพ้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของเรา

* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563

ขอบคุณข้อมูลจาก
โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลราชวิทยาลัย โสต ศอ นาสิกแพทย์ แห่งประเทศไทย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า