9 วิธีตามหาแมวหาย เมื่อเจ้าเหมียวจอมซนแอบทาสหนีเที่ยว
แมวหายทำไงดี ? เช็ก 10 วิธีตามหาแมวหาย เคล็ดลับช่วยให้ทาสเตรียมตัวรับมือได้อย่างมีระบบ และออกตามหาแมวที่หายไปให้เจอง่ายมากขึ้น
ไม่ว่าแมวจะเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านที่มีหน้าตาน่ารักน่าเอ็นดูสักเพียงไหน แต่ด้วยสัญชาตญาณนักล่าในตัว ก็ทำให้พวกมันชอบออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน หรือมักจะหนีออกจากบ้านเป็นประจำ จนทำให้เกิดปัญหาแมวหายอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งนั่นก็ทำให้ทาสแมวรู้สึกเป็นกังวลมาก ฉะนั้นวันนี้กระปุกดอทคอมเลยขออาสานำสิ่งที่ต้องทำเมื่อแมวหายออกจากบ้านมาฝากกัน รับรองช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตามหาแมวให้ดีขึ้นได้ ว่าแต่จะมีอะไรบ้าง อย่ามัวรอช้า ตามมาดูกันดีกว่าค่ะ1. ออกตามหาพร้อมกับกลิ่นที่คุ้นเคย
หากกลับมาบ้านแล้วไม่พบแมวเหมือนทุกครั้ง สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ค้นทุกซอกทุกมุมของบ้านอย่างละเอียดทั้งบนชั้น ในตู้ ใต้เตียง และซอกหลืบต่าง ๆ พยายามมองหาให้ครอบคลุมทุกตารางนิ้ว ถ้าไม่พบจริง ๆ ค่อยสวมเสื้อตัวเก่าหรือรองเท้าคู่เก่าแล้วออกไปสำรวจนอกบ้าน พร้อมกับเปิดกระป๋องอาหารหรือขนมและเขย่าเบา ๆ ไปด้วย วิธีนี้จะช่วยให้แมวได้กลิ่นของเจ้าของ และทำให้แมวได้ยินเสียงของกิน จนกลับมาหาเจ้าของได้ถูกและง่ายขึ้น
ไม่ใช่แค่นั้น แต่เคล็ดลับสำคัญอีกอย่างในการตามหาแมว คือ ให้ลองคิดเหมือนแมว ถ้าเราเป็นมันจะไปหลบตรงไหน ปกติชอบไปอยู่ตรงไหน ที่สำคัญอย่าโวยวาย เพราะจะทำให้แมวสัมผัสได้จนตัดสินใจซ่อนตัวหรือหนีเตลิดไปในที่สุด พยายามเรียกหาด้วยเสียงปกติ หรือเสียงอ่อนโยน อย่างไรก็ตาม หากเดินหาจนทั่วแล้วยังไม่พบ ให้กลับมาบ้านและนำเสื้อแขวนไว้ด้านหน้า ถอดรองเท้าไว้นอกประตู เพื่อให้ลมพัดกลิ่นโชยไปจนถึงแมว ช่วยให้แมวหาทางกลับบ้านได้ถูกและง่ายขึ้นนั่นเอง
2. เลือกเวลาให้เหมาะสม
หลังกลับมาจากการตามหาแมวรอบแรกแล้ว ให้พักผ่อนและรอเวลาที่เหมาะสมก่อนจะออกตามหาอีกครั้งในช่วงค่ำ ๆ เพราะบรรยากาศโดยรวมจะเงียบ ช่วยให้เสียงเรียกดังขึ้น ทำให้แมวได้ยินดีมากขึ้น ส่วนวิธีการตามหาก็เหมือนเดิม เรียกชื่อแมวในน้ำเสียงนุ่มนวล พร้อมกับเขย่ากระป๋องอาหาร หรือไม่ก็เปิดอาหารให้กลิ่นโชยไปด้วย โดยเจ้าของบางคนอาจจะอัดเสียงเปิดกระป๋องไว้ แล้วใช้เล่นซ้ำเพื่อช่วยเรียกความสนใจไปเรื่อย ๆ ซึ่งถ้าหากแมวอยู่ในละแวกที่ตามหาจริง ๆ ทำแบบนี้ไม่นานแมวก็จะปรากฏตัวแล้วค่ะ3. ทำเซฟโซนเผื่อแมวกลับบ้าน
อีกหนึ่งสิ่งที่ควรทำระหว่างรอให้แมวกลับบ้านหลังจากมันหายตัวไป คือ นำกล่องลังหรือกล่องกระดาษขนาดใหญ่เจาะรูด้านข้างให้แมวพอเข้าไปได้ จากนั้นก็กลับด้านปากกล่องลงข้างล่าง แล้วเอาไปวางไว้หน้าบ้าน พร้อมใส่ที่นอนนุ่ม ๆ เข้าไปข้างใน หาน้ำ หาอาหารมาวางไว้ใกล้ ๆ เพื่อให้เป็นที่เซฟโซนเมื่อแมวกลับมา นอกจากนี้ก่อนจะเข้าไปนอน หรือเข้าไปพักผ่อน ก็อย่าลืมเรียกแมวอีกสักครั้ง และถ้าเป็นไปได้ให้หันกล้องวงจรปิดมาบริเวณนี้เผื่อช่วยสอดส่องด้วยก็จะดีมาก
4. สอบถามกับคนใกล้ตัว
นอกจากจะตามหาแมวด้วยตัวเองแล้ว บางครั้งมันก็ดีกว่าที่จะสอบถามเพื่อนบ้านหรือคนแถวบ้าน เพื่อกระจายความทั่วถึง และให้พวกเขาช่วยกันสอดส่อง โดยนำรูปติดตัวไปด้วยระหว่างออกค้นหา จากนั้นก็พูดคุยและเอาให้ดูทั้งผู้ใหญ่และเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กผู้หญิง เนื่องจากส่วนใหญ่จะมีเปอร์เซ็นต์ช่วยตามหาแมวได้สำเร็จมากกว่า
ไม่ใช่แค่นั้น แต่ถ้าเป็นเพื่อนบ้านใกล้กันจริง ๆ สนิทกันมาก ๆ หรือมองดูแล้วมีโอกาสที่แมวจะเข้าไปหลบ อย่าลืมขอเข้าไปในบ้านพวกเขาเพื่อตรวจสอบตามโรงจอดรถ ระเบียง ซอกหลืบ และส่วนต่าง ๆ หรือไม่ก็ให้เขาช่วยค้นหาดูให้อีกที เพื่อไม่ให้เล็ดลอดสายตาไป
5. ติดป้ายประกาศหรือใบปลิว
สิ่งสำคัญไม่แพ้การออกตามหาก็คือการทำป้ายประกาศหรือใบปลิว โดยป้ายที่ดีไม่จำเป็นต้องสวยงาม แต่ต้องมีข้อมูลครบถ้วน เน้นคำว่าแมวหายตัวใหญ่ ๆ ให้คนที่ผ่านไปผ่านมามองเห็นสะดุดตา มีรูปแมวของตัวเองประกอบ ควรเป็นรูปสีที่เห็นจุดเด่นชัดเจน มีชื่อแมว มีคำอธิบายรายละเอียด เช่น สี พันธุ์ ลักษณะ พบครั้งสุดท้ายที่ไหน จากนั้นก็ใส่เบอร์โทร. หรือช่องทางโซเชียลให้ติดต่อกลับลงไป หลีกเลี่ยงการบอกชื่อจริงและที่อยู่ แต่สามารถบอกว่ามีรางวัลให้ได้ ทว่าไม่ควรระบุว่าเท่าไรเพื่อความปลอดภัย และถ้าจะให้ดีควรทำข้อมูลติดต่อเป็นช่องเล็ก ๆ ที่ท้ายกระดาษ เพื่อให้คนสามารถฉีกติดตัวไปได้ง่าย ๆ พร้อมทั้งใช้กระดาษที่ทนน้ำด้วย
เมื่อทำป้ายหรือใบปลิวเสร็จเรียบร้อย ก็นำไปติดไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น เสาสี่แยก ริมถนน ตู้โทรศัพท์ กระดานข่าวในชุมชน ร้านขายของชำ ร้านซักอบรีด ร้านอาหารสัตว์ ห้องสมุด โรงพยาบาลสัตว์ ศูนย์รวมของชุมชน หรือทุกที่ที่สามารทำได้ โดยให้ติดในระดับสายตา หรือแจกให้คนที่ผ่านไปผ่านมาได้ดู หลังจากนั้นก็หมั่นตรวจสอบทุกวันว่าป้ายยังอยู่ครบ ซึ่งเวลาไปตรวจสอบก็อย่าลืมนำป้ายใหม่ไปเผื่อชดเชยอันเก่าที่อาจจะหายไปด้วยนะคะ
6. โพสต์ลงโซเชียลมีเดีย
ไม่ใช่แค่ติดป้ายประกาศในละแวกใกล้เคียงเท่านั้น แต่ควรโพสต์โซเชียลมีเดียต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือวิทยุชุมชนด้วย โดยให้เน้นตามกลุ่มทาสแมว หรือกลุ่มเขตที่ตนอาศัยอยู่ เพื่อเพิ่มโอกาสในการมองเห็น เปิดโอกาสในการแชร์สู่วงกว้าง และถือเป็นการกระจายข่าวที่ง่ายและเร็วที่สุด อ้อ อย่าลืมบอกให้เพื่อน ๆ หรือคนรู้จักช่วยกันแชร์ด้วยล่ะ
7. ตั้งรับตามโพสต์เจอแมว
เคล็ดลับที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ อย่ามัวเป็นฝ่ายตามหาด้วยการออกนอกบ้านทุกวัน ติดป้ายประกาศตามที่สาธารณะ หรือโพสต์ในโซเชียลมีเดียอย่างเดียว ต้องเป็นฝ่ายตั้งรับ คอยมองหาโพสต์ที่บอกว่าเจอแมว โพสต์ที่บอกว่ามีแมวหลงมา หรือแฮชแท็กที่คิดว่าจะทำให้ตามหาได้ง่ายขึ้นด้วย
8. อยู่ในจุดที่แมวสัมผัสได้
พยายามออกมานั่งเล่นหรือใช้เวลานอกบ้านบ่อย ๆ พร้อมทั้งพูดคุยในระดับเสียงนุ่มนวลที่ดังพอสมควร เผื่อว่าแมวหลงอยู่ใกล้ ๆ จะบังเอิญได้ยิน จำได้ และหาทางกลับมาถูกในที่สุด หรือถ้าหากใครเลี้ยงสุนัขอยู่ด้วย ขอแนะนำให้พาสุนัขไปเดินเล่นในบริเวณใกล้เคียงเพื่อให้มันช่วยสอดส่องตามหาแมวไปในตัว
9. เช็กแถวบ้านเก่า
สำหรับคนที่เพิ่งย้ายหรือเปลี่ยนบ้านใหม่ หากออกตามหาแมวบริเวณใกล้เคียงเท่าไรก็ไม่พบ อย่าลืมขยายอาณาเขตไปยังละแวกบ้านเก่าด้วย เพราะแมวบางตัวอาจจะรู้สึกชิน คิดถึง โหยหา และพยายามหนีกลับไปถิ่นเดิมได้นั่นเอง
Tip เพิ่มเติม :
หากลองทำทุกทางแล้วก็ยังไม่เจอแมวอยู่ดี ชาวญี่ปุ่นมีความเชื่อว่า ให้ลองไปคุยกับแมวตัวอื่นแถวบ้าน ทำนองว่า “ถ้าหากเจอแมวของฉัน ช่วยบอกให้กลับบ้านด้วยนะ” เพราะหลายคนที่ทำตามพบว่ามันได้ผล โดยมีข้อสันนิษฐานว่าเพราะแมวอ่านสัญญาณจากคน การทำแบบนี้เลยช่วยให้แมวรับรู้ได้ ซึ่งแม้จะดูเป็นวิธีที่แปลกประหลาดและไม่น่าเชื่อถือสักเท่าไร แต่ก็ง่าย ใครจะลองดูได้ไม่เสียหายนะคะ
แม้ว่าการทำตามขั้นตอนทั้งหมดจะไม่ช่วยให้เจอแมวหรือทำให้แมวกลับบ้าน 100% แต่ก็ช่วยเพิ่มโอกาสในการพบตัว และลดโอกาสแมวหลงลงได้ อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่รอต้องไม่เครียดเพราะนั่นจะทำให้แมวรับรู้และรู้สึกกลัว รวมถึงต้องอดทนและมีความหวังอยู่เสมอ เพราะมีหลายครั้งที่แมวหายไปนานเป็นเดือน เป็นปี แต่ก็ยังกลับบ้านมาถูก นอกเหนือจากนี้ ถ้าจะให้ดีที่สุดควรป้องกันไว้ก่อนด้วยการใส่ปลอกคอและฝังไมโครชิป เนื่องจากจะช่วยให้ตามหาตัวแมวได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก petmd, petfinder และ bestlifepets