เทคนิคการใช้เงินอย่างชาญฉลาดแบบคนญี่ปุ่น
ค่าครองชีพในญี่ปุ่นสูงขึ้น ข้าวของมีราคาแพงขึ้น แต่เงินเดือนคนญี่ปุ่นกลับไม่เพิ่มขึ้น แถมบางที่ทำงานยังตัดโบนัสซึ่งเป็นเงินก้อนเพื่อยังชีพของมนุษย์เงินเดือนในญี่ปุ่นอีกด้วย มารู้เทคนิคการใช้จ่ายของจำเป็นในชีวิตประจำวันอย่างชาญฉลาดเพื่อช่วยให้มีเงินเหลือเก็บออมได้มากขึ้นจากคำแนะนำของคนญี่ปุ่นกันค่ะ
เทคนิคการใช้จ่ายเงินซื้อของจำเป็นในชีวิตประจำวันอย่างชาญฉลาด
คนจำนวนมากคิดว่าการซื้อของมาเก็บไว้ในปริมาณมากนั้นเป็นการประหยัดเงิน แต่แท้จริงแล้วของที่ซื้อมามากจนใช้หรือรับประทานไม่หมด แล้ววางทิ้งไว้จนหมดอายุและต้องทิ้งไป กลับเป็นการสูญเสียเงินไปอย่างน่าเสียดาย เทคนิคการซื้อของจำเป็นในชีวิตประจำวันเพื่อให้มีเงินเหลือเก็บออม มีดังนี้
1. กำหนดรายการสินค้าเก็บตุนไว้ในบ้าน
คนจำนวนมากซื้อของกินของใช้ในชีวิตประจำวันมาเก็บตุนไว้มาก และบางครั้งก็ยากที่จะจำได้ว่ามีอะไรหลงเหลืออยู่บ้าง การทำรายการสต็อกของใช้และของกินในบ้านไว้ จะช่วยป้องกันการซื้อมาแล้วลืมใช้หรือลืมนำรับประทานได้ดี
2. การซื้อของจากร้านร้อยเยน
ของใช้ในชีวิตประจำวันหลายชนิดในร้าน 100 เยน เช่น ถุงใส่ขยะ กระดาษทิชชู่สำหรับพกพา สมุดโน้ต หรือทัพเพอร์แวร์ เป็นต้น มีราคาถูกกว่าซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านยา ทั้งนี้ก็มีข้อควรระวังเมื่อไปร้าน 100 เยน คือ การตัดใจไม่ซื้อสิ่งที่ไม่จำเป็นเพราะเห็นว่าราคาถูก
3. เลือกซื้อผลิตภัณฑ์รีฟิลโดยคำนวณราคาต่อหน่วยมิลลิลิตร
แม้สินค้ารีฟิลโดยส่วนใหญ่มักจะมีราคาถูก แต่ก็มีสินค้าหลายอย่างในญี่ปุ่นที่รีฟิลก็มีราคาแพงกว่าสินค้าในบรรจุภัณฑ์ปกติ ก่อนซื้อสินค้ารีฟิลให้ลองคำนวณราคาต่อหน่วยมิลลิลิตรก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์สินค้ารีฟิลเพื่อสิ่งแวดล้อมมีราคาถูกกว่าในบรรจุภัณฑ์ปกติ
4. ใช้บัตรสะสมคะแนน
คะแนนสะสมจากยอดซื้อในบัตรสะสมคะแนนสามารถนำมาใช้แลกซื้อสินค้าแทนเงินได้ การซื้อสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันจากร้านประจำที่มีการสะสมคะแนนจะช่วยประหยัดเงินได้ดีกว่าการซื้อจากร้านต่างๆ ที่ไม่ได้ทำบัตรสะสมคะแนนไว้
5. ไม่ซื้อสินค้าเพราะลดราคามาเก็บตุนไว้มาก
การซื้อสินค้าราคาถูกที่ใกล้หมดอายุหรือเพราะลดราคาในปริมาณมากมาเก็บตุนไว้ บางครั้งอาจทำให้ใช้จ่ายเงินโดยเปล่าประโยชน์ เนื่องจากรับประทานไม่ทัน หรือหลงลืมเพราะเก็บไว้ในที่สูงจนสินค้าหมดอายุ ทุกครั้งก่อนซื้อสินค้าลดราคา โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารหรือเครื่องปรุงนั้น ควรพิจารณาให้มั่นใจว่าจะใช้สินค้าเหล่านั้นได้หมดก่อนวันหมดอายุหรือไม่
6. การจำกัดจำนวนครั้งการกดเงินจาก ATM อย่างชัดเจน
การใช้บัตรเครดิตหรือกด ATM ทุกครั้งที่ใช้เงินเกินงบที่ตั้งไว้ด้วยความรู้สึกว่าไม่เป็นไรใช้จ่ายเงินเกินงบประมาณไปบ้าง จะสร้างนิสัยการไม่ใส่ใจการใช้เงิน และจะทำให้เงินเก็บออมลดลง วิธีการที่ดีในการซื้อของจำเป็นในชีวิตประจำวัน คือการใช้เงินสด อีกทั้งต้องกำหนดจำนวนเงินสำหรับใช้จ่ายรายเดือนและจำนวนครั้งการกด ATM ให้ชัดเจน พร้อมกับความพยายามใช้เงินให้เพียงพอกับงบประมาณที่กำหนดไว้ในแต่ละเดือน ก็จะช่วยให้มีเงินออมเก็บได้ตามที่ต้องการ
ในยุคที่เศรษฐกิจแย่ข้าวของแพง คนญี่ปุ่นก็เดือดร้อนกันถ้วนหน้า แม้ว่าค่าใช้จ่ายรายวันจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องพยายามมีเงินออมไว้เพื่ออนาคตด้วย ลองนำวิธีการดังกล่าวไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันเราดูค่ะ
ขอขอบคุณ
ข้อมูล :สรุปเนื้อหาจาก money.smt.docomo