โดนบูลลี่ (Bully) ทำไงดี มาเรียนรู้วิธีเซฟใจตัวเองเมื่อเจอกับคำร้าย ๆ
การพูดอย่างไม่คิดให้ดี ๆ อาจเป็นการบูลลี่คนอื่น และคนที่โดนบูลลี่อาจเสียความรู้สึก และเจ็บลึกไปอย่างยาวนาน…จัดการกับความรู้สึกนี้ยังไงดี
จริง ๆ แล้วการบูลลี่ในไทยเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน แต่ในยุคที่มีโซเชียลมีเดียใช้กันอย่างกว้างขวาง เราจะเห็นได้ชัดว่าการบูลลี่เริ่มหนักข้อขึ้น เริ่มเห็นกันเยอะขึ้น ไม่ว่าจะในวัยเรียนหรือวัยทำงาน ใครก็โดนบูลลี่ได้ ดังจะเห็นได้จากงานวิจัยของกรมสุขภาพจิต ที่พบว่า การใช้ความรุนแรง การข่มเหงรังแกกันหรือการบูลลี่ ในประเทศไทยติดอันดับ 2 ของโลก
แล้วถ้าวันหนึ่งต้องเจอกับการบูลลี่แบบนี้จะรับมือยังไงดี เรามีวิธีที่อยากแนะนำการบูลลี่คืออะไร
การบูลลี่ (Bullying) หมายถึง การกลั่นแกล้งกันในสังคม ไม่ว่าจะด้วยคำพูดที่ใส่ร้าย ว่าร้าย ทำให้อับอาย หรือไปจนถึงการกลั่นแกล้งแบบรุนแรง ซึ่งเป็นการทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยแบ่งประเภทของการบูลลี่ได้ ดังนี้
1. การใช้กำลัง
เช่น การตบ ตี ชก ต่อย ทำร้ายร่างกาย หรือข่มขู่ให้กลัวด้วยพฤติกรรมทำลายข้าวของให้เสียหาย
2. บูลลี่ด้วยคำพูดทำร้ายความรู้สึก
เช่น การล้อเลียน เยาะเย้ย วิพากษ์วิจารณ์รูปร่างหน้าตา สีผิว ปมด้อยของคนอื่น ทำให้ต้องอับอายหรือเสียความรู้สึก
3. การบูลลี่ทางสังคม
เช่น กดดันให้ออกจากกลุ่ม หรือการตัดความสัมพันธ์ กีดกันไม่ให้ใครคบค้าสมาคมด้วย
4. การบูลลี่ทางโลกออนไลน์
หรือ Cyber Bullying ซึ่งเป็นการกลั่นแกล้งที่ทำให้อับอายในวงกว้าง เพราะมีการแชร์ต่อ ๆ กันได้
Cyber Bullying การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ทำร้ายชาวเน็ตได้ง่ายกว่าที่คิด ทั้งนี้ การบูลลี่มักจะเป็นการกลั่นแกล้งแบบซ้ำ ๆ วนลูปอยู่อย่างนั้นไม่รู้จบ ซึ่งการกลั่นแกล้งกันไม่ว่าจะด้วยวิธีไหน ก็ทำร้ายความรู้สึก ความมั่นใจ หรืออาจเลยเถิดไปถึงขั้นเจ็บตัว อับอายจนไม่อยากอยู่ร่วมสังคมกับใคร กลายเป็นปัญหาชีวิตที่อาจเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพจิต ไปด้วย ดังนั้น เมื่อโดนบูลลี่ เราจะเซฟใจตัวเองยังไงดีให้ยังยืนหยัดได้อยู่ ลองมาดูวิธีกันวิธีรับมือเมื่อโดนบูลลี่ ทำยังไงดี
1. พยายามอย่าตอบสนองต่อการกลั่นแกล้ง
เมื่อโดนกลั่นแกล้ง ดูถูก แม้จะหนักแค่ไหน ลองทำหูทวนลม ไม่รับคำพูดเหล่านั้นดูบ้าง คนที่กลั่นแกล้งเราอาจรู้สึกเหมือนพูดกับกำแพงจนหมดสนุกไปเลยก็ได้ เพราะหากตอบโต้หรือเถียงกลับไปทุกครั้งอาจทำให้เรื่องบานปลายกันไปใหญ่
2. ไม่ตอบโต้ด้วยความรุนแรง
เราสามารถแสดงความไม่พอใจได้ แต่ไม่ควรตอบโต้ด้วยความรุนแรงกลับไป เพราะอาจทำให้อีกฝ่ายป้ายความผิดเราได้ และจะกลายเป็นจำเลยสังคม เสี่ยงต่อการถูกมองว่าแย่ลงไปอีก
3. เก็บหลักฐานไว้บ้าง
เราควรป้องกันตัวเองด้วยหลักฐานอะไรสักอย่างที่สามารถบ่งชี้ได้ว่ามีคนบูลลี่เรา อาจเป็นคลิปเสียง ภาพถ่าย ที่จะแสดงให้เห็นได้ว่าเราโดนกลั่นแกล้งยังไงบ้าง โดนมาแล้วกี่ครั้ง เพื่อเอาไปปรึกษาอาจารย์ ผู้ปกครอง หรือหากมีเรื่องรุนแรงจะได้สามารถนำไปแจ้งความดำเนินคดีได้
4. ปรึกษาผู้ใหญ่
ลองปรึกษากับผู้ใหญ่ อาจจะเป็นคุณครู หัวหน้างาน หรือคนในครอบครัว ถึงการโดนกลั่นแกล้ง อย่างน้อยการได้ระบายให้ใครสักคนฟังก็ช่วยให้เราสบายใจขึ้น อีกทั้งการปรึกษาคนที่ไว้ใจได้ พึ่งพาได้ ก็ยังจะทำให้รู้สึกปลอดภัย อบอุ่นใจว่ายังมีคนเคียงข้างเราเสมอ
5. ตัดขาดกับคนที่บูลลี่
ถ้าเจอคนมาบูลลี่พยายามอยู่ห่างจากเขาให้มากที่สุด หรือถ้าโดนบูลลี่ทางโซเชียลก็จัดการบล็อกทุกช่องทางการติดต่อไปเลย
6. ปล่อยวางให้ได้
แน่นอนว่าเราอาจมีบาดแผลจากการบูลลี่ แต่ถ้าเรายิ่งกอดเก็บไว้ คิดวน ๆ ซ้ำ ๆ ถึงสิ่งที่โดนกระทำ อาจเป็นการทำร้ายตัวเองไม่รู้จบก็ได้ เราจึงควรยอมรับความจริงว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนคนที่บูลลี่ให้เขามาทำดีกับเราได้ แต่สิ่งที่เราเปลี่ยนได้คือความคิดแย่ ๆ ที่คอยตอกย้ำตัวเองต่างหาก ดังนั้น พยายามปล่อยวางเพื่อใช้ชีวิตต่อเถอะ และมองเห็นคุณค่าในตัวเองให้มากขึ้น
7. พบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา
ถ้ารู้สึกแย่มาก ๆ ชีวิตมืดแปดด้าน หาทางออกให้ตัวเองไม่ได้ ลองปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ให้เขาช่วยเยียวยาบาดแผลในใจให้เราก้าวผ่านเรื่องบูลลี่ไปได้
8. ดำเนินคดีตามกฎหมาย
การบูลลี่หลายกรณี เช่น การทำร้ายร่างกาย การคุกคามทางเพศ โพสต์ข้อความอันเป็นเท็จทำให้ได้รับความเสียหาย หรือถูกแชร์เรื่องส่วนตัว ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย สามารถรวบรวมหลักฐานแจ้งความดำเนินคดีได้ถ้าคนใกล้ตัวถูกบูลลี่ ควรทำยังไงดี
ในกรณีที่ลูกหลาน หรือเพื่อน โดนบูลลี่ เราจะปลอบใจเพื่อนยังไงดี เรามีวิธีมาแนะนำ
* อยู่เคียงข้างเขาเสมอ ให้เขารู้ว่าไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวนะ
* รับฟังปัญหาที่เขาเจอมา และพยายามถามไถ่ถึงสิ่งดี ๆ ที่เจอในแต่ละวันด้วย เพื่อให้เขาได้รู้ว่ายังมีสิ่งดี ๆ ในชีวิตให้มองได้อีกเยอะแยะ
* บอกให้เขารู้ว่า เขาไม่ได้ทำผิดอะไร ปัญหาไม่ได้เกิดจากตัวเขา แต่เป็นเพราะทัศนคติของคนที่มาบูลลี่เขาต่างหาก
* หากเป็นผู้ปกครองของเด็กที่ถูกบูลลี่ ควรทำให้เด็กมีความเชื่อมั่นและปลอดภัย โดยอาจตามเขาไปที่โรงเรียน เพื่อพูดคุยกับคุณครูหรือผู้ใหญ่ในองค์กร ให้เขารับรู้และแก้ปัญหาให้
* หมั่นพูดคุยกับเขาและชวนเขาออกไปทำกิจกรรมที่เขาชอบ เพื่อให้เขามีพื้นที่ มีโลกอีกโลกให้โฟกัส ไม่ต้องจมปลักอยู่กับโลกร้าย ๆ ของการบูลลี่
* คอยสังเกตพฤติกรรมของเขาให้ดี เพื่อป้องกันการทำร้ายตัวเอง พยายามอย่าให้เขาอยู่คนเดียว
การแก้ปัญหาบูลลี่จำเป็นต้องแก้กับทุกคน ทุกด้าน ไม่เพียงแต่เหยื่อที่ถูกกระทำเท่านั้น แต่ควรต้องเยียวยากลุ่มคนที่อยู่ในปัญหาการบูลลี่ทั้งหมด เพราะผู้กระทำเองก็อาจมีบาดแผลในใจที่ผลักดันให้ชอบข่มผู้อื่น บูลลี่ผู้อื่น ฝั่งคนที่เป็นเพื่อน เป็นผู้รู้เห็นการบูลลี่ แม้ตัวเองจะไม่ได้โดนบูลลี่ก็ตาม แต่ก็อาจมีความกลัวแฝงอยู่ทำให้ไม่กล้าออกเสียงปกป้องหรือต่อต้านการบูลลี่ที่เกิดขึ้น ที่สำคัญคนในครอบครัวก็มีส่วนสำคัญในการสร้างเกราะป้องกัน ให้ความรัก ความอบอุ่นใจ กับลูกหลาน เพื่อไม่ให้เขามีปมจนต้องไปบูลลี่ใคร หรือรู้สึกอ่อนแอจนเมื่อโดนบูลลี่ก็รับไม่ไหว หาทางออกให้ตัวเองไม่ได้
ขอบคุณข้อมูลจาก
โรงพยาบาลเพชรเวช, Thai PBS, โรงพยาบาลสมิติเวช