ตำนานตุ๊กตาไล่ฝน กับความสยองที่มองไม่เห็น

ในปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงหน้าฝน ทำให้ฝนตกเป็นระยะ ๆ จนการตากผ้าหรือการเดินทางเป็นไปอย่างยากลำบาก ในช่วงเวลาแบบนี้หลาย ๆ คน ก็คงจะนึกถึงเครื่องรางของประเทศญี่ปุ่นอย่าง “ตุ๊กตาไล่ฝน” ตุ๊กตาตัวเล็ก ๆ สีขาวสุดน่ารัก ที่ปรากฏในการ์ตูนชื่อดังอย่าง “อิคคิวซัง เณรน้อยเจ้าปัญญา”

แต่รู้หรือไม่ ว่าถึงแม้รูปลักษณ์ภายนอกจะดูน่ารักสดใส แต่ตุ๊กตาไล่ฝนของประเทศญี่ปุ่นกลับมีตำนานอันน่าสะพรึงกลัวซ่อนอยู่ ในวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับตำนานตุ๊กตาไล่ฝน รวมถึงความเชื่อต่าง ๆ กัน

ตุ๊กตาไล่ฝน คืออะไร?

ก่อนจะพูดถึงตำนานตุ๊กตาไล่ฝน เราคงจะต้องทำความรู้จักตุ๊กตาตัวนี้กันก่อน ตุ๊กตาไล่ฝน หรือในภาษาญี่ปุ่นคือ เทะรุ เทะรุ โบสุ มีความหมายตรงตัวว่า หัวล้านแดดออก เป็นตุ๊กตาตัวเล็ก ๆ ทำจากผ้าสีขาว หัวกลมโต วาดหน้าตาไว้อย่างง่าย ๆ นิยมแขวนไว้นอกหน้าต่างหรือหน้าประตูบ้าน

เด็ก ๆ ในประเทศญี่ปุ่นมักจะนิยมแขวนไว้ในวันก่อนที่จะมีวันสำคัญ ๆ เช่น วันทัศนศึกษา วันงานกีฬาสี และถ้าหากว่าวันต่อมาฝนไม่ตก ก็จะต้องแขวนกระดิ่งหรือเทสาเกให้กับตุ๊กตาไล่ฝน เพื่อเป็นการขอบคุณ ในทางกลับกัน ถ้าเกิดอยากให้ฝนตก คนญี่ปุ่นจะแขวนตุ๊กตาไล่ฝนกลับหัว วิธีนี้ชาวนาญี่ปุ่นมักจะทำกันเพื่อให้ฝนตกตามฤดูกาล

สำหรับวิธีการทำตุ๊กตาไล่ฝนก็ง่ายนิดเดียว เพียงแค่ใช้กระดาษ หรือกระดาษทิชชู่ 2 แผ่น มาทำเป็นส่วนหัวให้กลม ๆ แล้วนำเชือกมาผูกไว้ ก่อนจะนำไปแขวนไว้ที่หน้าต่าง จะเห็นได้ว่าในขั้นตอนของวิธีการทำนั้นไม่ได้มีการวาดหน้าลงไป นั่นก็เพราะการทำตุ๊กตาไล่ฝนที่ถูกต้องไม่จำเป็นจะต้องวาดหน้าลงไป แต่จะวาดเมื่อคำขอเป็นจริงต่างหาก

ส่วนทิศทางของการแขวนตุ๊กตาไล่ฝน คนญี่ปุ่นมีความเชื่อว่าทิศทางที่สำหรับการแขวนตุ๊กตาไล่ฝนคือทิศใต้ ที่สามารถมองเห็นดวงอาทิตย์ได้ ในทางตรงกันข้ามกล่าวกันว่าถ้าแขวนไว้ทางทิศเหนือจะทำให้เกิดฝนตก

เมื่อสังเกตดี ๆ จะเห็นว่ารูปร่างของตุ๊กตาไล่ฝนดูคล้ายกับคนถูกแขวนคอ ซึ่งนั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของตำนานที่จะเล่าต่อไปนี้ หลังจากรู้จักตุ๊กตาไล่ฝนกันพอสมควรแล้ว หลังจากนี้เราจะเข้าสู่ตำนานหลอน ๆ ของตุ๊กตาไล่ฝนกันบ้าง

Teruteru Bozu เพลงตุ๊กตาไล่ฝนกับเนื้อเพลงที่น่ากลัว

ในประเทศญี่ปุ่น มีการให้ความสำคัญเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องหน้าฝน ถึงขั้นมีการแต่งเพลงจากตุ๊กตาไล่ฝนให้เด็ก ๆ ในประเทศญี่ปุ่นร้อง แต่ถึงแม้จะบอกว่าเป็นเพลงที่เด็ก ๆ ใช้ร้องกัน แต่เนื้อเพลงกลับมีความน่ากลัว ซึ่งยิ่งตอกย้ำให้ตำนานเรื่องนี้ดูสยองขึ้นกว่าเดิมมากขึ้น

โดยเนื้อเพลง เมื่อแปลเป็นไทย จะจับใจความได้ดังนี้

เทะรุเทะรุโบซุ เทะรุโบซุ ช่วยทำให้อากาศวันพรุ่งนี้แจ่มใสด้วยเถิด

เหมือนกับท้องฟ้าในความฝันหนึ่ง หากอากาศแจ่มใสฉันจะให้กระดิ่งทอง

เทะรุเทะรุโบซุ เทะรุโบซุ ช่วยทำให้อากาศวันพรุ่งนี้แจ่มใสด้วยเถิด

หากฟังคำขอของฉันละก็ จะให้ดื่มสาเกแสนหวาน

เทะรุเทะรุโบซุ เทะรุโบซุ ช่วยทำให้อากาศวันพรุ่งนี้แจ่มใสด้วยเถิด

หากยังมีฝนตกละก็ ฉันจะตัดหัวของเธอซะ

ซึ่งในเพลงท่อนสุดท้ายที่ร้องว่า “ฉันจะตัดหัวของเธอซะ” ก็มีความหมายในทางที่ไม่ดี และเมื่อรวมกับตำนานที่จะเล่าดังต่อไปนี้ จะยิ่งทำให้ตุ๊กตาไล่ฝนในความทรงจำของทุกคนเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน

ตำนานสุดสยองของตุ๊กตาไล่ฝน

สำหรับเรื่องราวของตุ๊กตาไล่ฝน มีรายละเอียดที่ถูกเล่าขานแตกต่างกันออกไป แต่ที่คล้ายคลึงกันที่สุดคือมีอยู่ว่าในอดีตเมืองแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่นเจอกับเหตุการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่อง จนเกิดน้ำท่วมใหญ่ ส่งผลให้พืชสวนไร่นาของชาวบ้านเสียหายอย่างหนัก ชาวบ้านจึงเริ่มภาวนาต่อเทพเจ้าขอให้ฝนหยุดตก แต่ก็ไม่มีวี่แววว่าฝนจะหยุด จนเจ้าเมืองต้องประกาศหาผู้ที่สามารถทำให้ฝนหยุดตกได้ และจะมอบรางวัลให้

พระรูปหนึ่งที่ลือกันว่าสามารถทำพิธีปัดเป่าทำให้ฝนหยุดได้ จึงเดินทางมาเสนอตัวว่ามีความสามารถทำให้ฝนหยุดตกได้ เมื่อมาถึงพระรูปนั้นได้เริ่มสวดมนต์ แต่สวดสักเท่าไหร่ฝนก็ไม่มีแนวโน้มว่าจะหยุด เจ้าเมืองโกรธมากจึงสั่งลงโทษด้วยการตัดศีรษะ แล้วนำศีรษะคลุมด้วยผ้าขาว แขวนประจานงโทษ ในข้อหาหลอกลวง

ทว่าในวันถัดมาเรื่องมหัศจรรย์กลับเกิดขึ้น เมื่อวันถัดมาฝนกลับหยุดตกในที่สุด จากนั้นชาวบ้านจึงเชื่อกันว่า ถ้าทำตุ๊กตาไล่ฝนหัวกลมเหมือนดั่งพระภิกษุ แล้วนำไปแขวนไว้ จะทำให้ฟ้าของวันรุ่งขึ้นนั้นสดใสปลอดโปร่ง

ซึ่งเนื้อหาของตำนานเรื่องนี้ก็สอดคล้องกับเนื้อเพลง ที่บอกว่าถ้าทำไม่ได้จะตัดหัวของเธอซะ นับว่าเรื่องราวที่เมื่อรับรู้แล้วจะทำให้เรามองตุ๊กตาไล่ฝนต่างไปจากเดิมอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม นอกจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว ประเทศจีนก็มีตำนานคล้าย ๆ กัน โดยประเทศจีนมีตุ๊กตาขอพรที่เป็นตุ๊กตาเด็กผู้หญิงถือไม้กวาดอยู่ เรียกว่า ตุ๊กตาเซ่าฉิงเหนียง (หญิงสาวผู้ขจัดเมฆฝน) ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าตำนานทั้งสองมีความคล้ายคลึงกัน นั่นเพราะญี่ปุ่นได้รับธรรมเนียมเกี่ยวกับการไล่ฝนมาจากประเทศจีนเมื่อราวสมัยเฮอัง (ค.ศ. 794 – ค.ศ. 1185) และหลอมรวมเข้ากับความเชื่อพื้นบ้านในที่สุด

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า