9 สิ่งต้องรู้เกี่ยวกับ PM 2.5 ทำไมฝุ่นจิ๋วถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพเกินกว่าจะคาดถึง

ดูเหมือนปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จะวนกลับมาสร้างผลกระทบต่อสุขภาพชาวไทยซ้ำๆ ในทุกปีและดูเหมือนจะกลายเป็นความปกติที่แก้ไม่ตกไปเสียแล้ว ทว่าในทางระบาดวิทยา ฝุ่น PM 2.5 เป็นหนึ่งในมลพิษทางอากาศที่อันตรายที่สุด  เมื่อเข้าสู่ร่างกายทางโพรงจมูกสามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ปอด และระบบเส้นเลือด ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา เช่น โรค หลอดเลือดในสมอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจ ขาดเลือด โรคมะเร็งปอด โรคติดเชื้อเฉียบพลันในระบบ หายใจส่วนล่าง ฯลฯ

ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ความสำคัญกับ ฝุ่น PM 2.5 อย่างมาก เนื่องจากเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพของคนและสัตว์ เหตุผลก็เพราะฝุ่นขนาดจิ๋วนี้สามารถทำตัวเป็นศูนย์กลางให้สารพิษอื่น ๆ ที่ปกติจะล่องลอยอยู่ในอากาศ เช่น สารก่อมะเร็ง สารโลหะหนัก ฯลฯ มาเคลือบหรือเกาะอยู่บนผิวของมัน แล้วมันก็จะเป็นตัวพาสารพิษต่างๆ เหล่านี้เข้าไป ในส่วนลึกของร่างกาย แม้แต่ทารกในครรภ์มารดาก็สามารถได้รับผลกระทบจากเจ้าฝุ่นขนาดเล็กนี้ตั้งแต่ยังไม่ลืมตาดูโลก ซึ่งนี่คืออันตรายที่ร้ายแรงที่สุด

Sarakdee Lite ชวนย้อนทำความเข้าใจที่มาและอันตรายของ ฝุ่น PM 2.5 อีกครั้ง แม้ปัญหานี้จะแก้ไม่ตก แต่อย่างน้อยเราก็จะได้เตรียมพร้อมที่จะรับมือกับปัญหาฝุ่นที่ไม่เป็นเรื่องฝุ่นๆ นี้กัน

1. อนุภาคขนาดเล็กนั้นเล็กแค่ไหน

PM2.5 หมายถึงฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน โดย PM ย่อมาจาก Particulate Matter หมายถึง ฝุ่นละออง ทั้งนี้หากเปรียบเทียบกับขนาดความกว้างเส้นผมของมนุษย์ ฝุ่น PM 2.5 จะมีขนาดเล็กกว่าถึง 25 เท่า หรือลองนึกภาพเทียบกับเม็ดทรายที่มีขนาด 60 ไมครอน ก็พอจะเห็นได้ว่าฝุ่นมลพิษที่มีขนาด 2.5 ไมครอน นั้นเล็กขนาดไหน และนั่นจึงเป็นเหตุผลว่าขนจมูกของเราหรือหน้ากากอนามัยทั่วไปไม่สามารถกรองฝุ่น PM 2.5 ได้

2. สารพิษที่ปะปนมา

อนุภาคของฝุ่น PM2.5 มีส่วนประกอบแตกต่างกันตามแหล่งกำเนิด เช่น ถ้าเป็นจากการเผาป่าก็จะเป็นพวก Polyaromatic Hydrocarbon พวกซัลเฟอร์ หรือถ้ามาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงจากรถยนต์ส่วนประกอบก็จะเป็นตัวทำละลาย นอกจากนี้ยังมีโลหะหนักปนมาด้วย เช่น พอลิไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) มีเกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ภายในท่อไอเสีย รถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม ควันบุหรี่ ทำให้คนสูดดม เป็นมะเร็ง ปรอท เกิดจากการเผาไหม้ของน้ำมันและถ่านหิน สามารถระเหยเป็นไอ ทำลายระบบประสาท ทำให้เป็น อัมพาต มะเร็ง จนถึงเกิดความผิดปรกติทางพันธุกรรม ทำร้ายทั้งคนและสัตว์โดยเฉพาะเด็กที่กำลังโต แม้กระทั่ง สารหนู ที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม  การทำ เหมือง การทำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยาฆ่าแมลง ก็ปะปนมากับฝุ่นละออง PM2.5 ได้ ทำให้เกิดโรคผิวหนัง มึน ตัวชา อยากอาเจียน เข้าสู่ระบบ ประสาท และทำอันตรายต่อปอด

3. อันตรายต่อสุขภาพ

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า PM2.5 เป็นฝุ่นที่ขนจมูกไม่สามารถกรองได้และอาจมีสารพิษเกาะติดมาด้วย และด้วยขนาดที่เล็กมากเมื่ออยู่ในอากาศ ฝุ่นพิษนี้จึงสามารถเข้าสู่ทางเดินหายใจเข้าไปยังถุงลม แทรกซึมผ่านเข้าไปยังหลอดเลือดฝอยและเข้าสู่กระแสเลือด กระจายไปยังส่วนต่างๆ ทั่วร่างกายได้ ทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากขึ้น อีกทั้งยังไปรบกวนการทำงานของอวัยวะต่างๆ ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้น ได้แก่ ทำให้ไอ จาม ระคายเคืองตา แสบตา ตาแดง ระคายเคืองผิวหนัง เกิดผื่นคัน ส่วนระยะยาวยังสามารถก่อให้เกิดผลกระทบระยะยาวต่อระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ มะเร็งปอดระบบหัวใจและหลอดเลือด หัวใจวายความดันโลหิตสูง เป็นต้นAdvertisement

4. เด็กเล็กต้องระวัง

สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้ออกมากล่าวถึงผลกระทบของ PM2.5 ว่าเป็นฝุ่นที่มีอันตรายต่อเด็กอย่างมาก และเด็กเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษหากสถานการณ์ฝุ่นกลับมา เหตุผลก็ด้วยเด็กเล็กเป็นช่วงวัยที่ปอดกำลังพัฒนา การที่เด็กชอบเล่นในที่กลางแจ้ง อัตราการหายใจเร็ว และเป็นกลุ่มมีแนวโน้มไม่ใส่เครื่องป้องกันฝุ่นจึงมีโอกาสได้รับฝุ่นเป็นจำนวนมากกว่าเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ ดังนั้นผู้ปกครองควรติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศอยู่เสมอ และในช่วงที่มีฝุ่น PM2.5 ควรดูแลให้เด็กดื่มน้ำสะอาด 8-10 แก้วต่อวัน ปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด และเปิดพัดลมให้อากาศหมุนเวียน หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน แต่หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกัน PM2.5 โดยเฉพาะ และสำหรับเด็กที่มีโรคประจำตัวควรดูแลอย่างใกล้ชิด หากมีอาการไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจไม่ออกแน่นหน้าอก ให้รีบไปพบแพทย์

5. คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องรู้ 

ในคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์นั้น การรับ PM2.5 มากเกินไปส่งผลต่อความเสี่ยงให้ทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกคลอดน้ำหนักตัวน้อย นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อพัฒนาการและระบบสมองของทารกอีกด้วย

6. กระตุ้นโรคหืด

ผู้ป่วยที่เป็นโรคหืดจะมีความไวต่อการกระตุ้นจากฝุ่น ดังนั้นจึงเป็นอีกกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

7. ฝุ่นมีได้ทั้งในอาคารและนอกอาคาร

นายแพทย์เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานีกล่าวว่า เนื่องจากฝุ่นมลพิษนี้มีขนาดของอนุภาคเล็กถึง 2.5 ไมครอน จึงสัมผัส PM2.5 ได้ทั้งในอาคารและนอกอาคาร โดยเฉพาะในอาคารที่ไม่มีหน้าต่างหรือประตูที่ปิดมิดชิด หรือเป็นอาคารอยู่ในบริเวณที่คุณภาพอากาศไม่ดี

8. ถ้าเลี่ยงฝุ่นไม่ได้ทำอย่างไร

ถ้าหากหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้ง กิจกรรมนอกบ้านไม่ได้ หรือบ้าน ที่ทำงาน ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่คุณภาพอากาศไม่ดี ทางกรมการแพทย์แนะนำให้ใส่หน้ากากที่กรองฝุ่นขนาดเล็กได้ในบริเวณที่มีค่ามลพิษอากาศสูง เช่น หน้ากาก N95 โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก หญิงตั้งครรภ์ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดควร รวมทั้งหมั่นทำความสะอาดบ้านบ่อยๆ และการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศก็สามารถช่วยกรอง PM2.5 ได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน

9. หลีกเลี่ยงการซ้ำเติมปอด

ในขณะที่ PM2.5 ยังเป็นปัญหาที่หมุนเวียนกลับมาทุกปีและดูจะหนักขึ้นทุกปี สิ่งหนึ่งที่ประชาชนอย่างเราๆ ทำได้คือการรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ตามที่กรมการแพทย์ได้ออกมาให้คำแนะนำว่า การรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเป็นอีกทางที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพที่มาจาก PM2.5 นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ซ้ำเติมปอด ระบบทางเดินหายใจ เช่น สูบบุหรี่ เพราะจะทำให้ปอดแย่ลง หรือในรายที่เป็นหวัดอยู่เมื่อเจอฝุ่นพิษแบบนี้ก็จะยิ่งทำให้สุขภาพปอดแย่ลง คำแนะนำจากแพทย์คือการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี ส่วนผู้ที่ทำงานกลางแจ้งหรือในที่ที่มีฝุ่น เช่น ตำรวจจราจร ไซต์งานก่อสร้าง ควรได้รับการตรวจสมรรถภาพปอดเป็นประจำทุกปี

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า