วิธีปรุง “กัญชา” ให้เป็นเมนูอาหารอย่างถูกต้องและปลอดภัย

แม้ว่ากัญชาจะได้รับอนุญาตให้สามารถนำมาปรุงอาหารได้อย่างถูกกฎหมายแล้ว แต่ถือเป็นการปลดล็อกเพียงบางส่วนเท่านั้น จากเดิมที่ถือเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 โดยกระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้นำส่วนของ “ใบ” มาเป็นส่วนผสมในการปรุงอาหารได้ แต่ “ช่อดอกและเมล็ด” ยังถือเป็นยาเสพติด ให้ใช้ประโยชน์ได้เฉพาะทางการแพทย์เท่านั้น

ในอดีต คนไทยนำใบกัญชามาใช้ปรุงอาหารมาช้านานแล้ว และถือเป็นสมุนไพรที่ช่วยชูรสให้อาหารมีรสชาติกลมกล่อมยิ่งขึ้น โดยมักนิยมใส่ในแกง ก๋วยเตี๋ยวหรืออาหารประเภทผัดต่างๆ ซึ่งปริมาณที่ใช้ต่อ 1 หม้อมื้ออาหารจะอยู่ประมาณ 3 ยอด หรือ 5-8 ใบ

รู้จักสารออกฤทธิ์ต่างๆ ในกัญชา

จากข้อมูลของโรงพยาบาลอภัยภูเบศร ระบุว่าใบกัญชาจะมีสารออกฤทธิ์สำคัญ ได้แก่ Delta-9-Tetra-Hydrocanabinol (THC) ซึ่งมีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “สารเมา” และสาร Canabidiol (CBD)  ซึ่งไม่มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และในต่างประเทศนิยมใช้ในเมนูอาหาร

ทั้งนี้ กัญชาไทยจะมีสาร THC มากกว่า CBD โดยใบกัญชาแห้งสายพันธุ์ไทยจะมีปริมาณสาร THC  เฉลี่ย 1-2 มิลลิกรัม / ใบ ขณะที่ใบสดของกัญชา จะมีสาร Tetrahydrocannabinolic Acid (THCA) ซึ่งไม่มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท แต่หากถูกแสงหรือความร้อนจะทำให้เกิดกระบวกการเปลี่ยนแปลงจากสาร THCA เป็น THC ได้!

กัญชาไม่ได้กินได้ทุกคน!

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ใบกัญชาไม่ได้เป็นสมุนไพรที่สามารถรับประทานได้ในทุกเพศทุกวัย โดยไม่แนะนำในบุคคลดังต่อไปนี้

  • เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 25 ปี
  • สตรีมีครรภ์และสตรีที่ให้นมบุตร
  • ผู้ที่มีปัญตับและไตบกพร่อง
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือดวาร์ฟาริน
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยาซึ่งมีผลต่อระบบประสาท
  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด

ส่วนคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เข้าข่ายก็ควรบริโภคในปริมาณน้อยๆ เช่นกัน โดยแนะนำให้บริโภคไม่เกินวันละ 5 ใบ เพราะหากรับประทานมากกว่า 5 ใบ อาจจะส่งผลให้เกิดอาการใจสั่น (หัวใจเต้นเร็ว), ปากแห้ง คอแห้ง ง่วงนอน มึนงง วิงเวียน และปวดหัวได้

ทั้งนี้ ผลข้างเคียงจากการกินอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาเข้าไป จะต้องสังเกตอาการหลังจากรับประทานไปแล้วประมาณ 30-60 นาที แต่อาการจะเด่นชัดขึ้นเมื่อผ่านไปแล้วประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง – 3 ชั่วโมง ซึ่งเพจ สมุนไพรอภัยภูเบศร แนะนำว่าไม่ควรเริ่มต้นรับประมาณในปริมาณที่มาก และควรรอดูผลหลังจากบริโภคไปแล้วภายใน 2 ชั่วโมง ซึ่งกัญชายังคงอยู่ในร่างกายได้นาน 6-12 ชั่วโมง แต่อาจจะอยู่ในร่างกายได้นานกว่านั้นหากรับประทานบ่อยๆ

ดังนั้น คนที่ไม่เคยรับประทานมาก่อน ควรเริ่มในปริมาณที่น้อยๆ สักครึ่งใบ – 1 ใบ/วัน ซึ่งจะมีปริมาณสาร THC  ประมาณ 1-2.5 มิลลิกรัม ถ้าได้รับปริมาณที่มากกว่านี้ อาจทำให้เกิดอาการสับสน และเสียการทรงตัวได้

และหากพบว่ามีผลข้างเคียงจากการบริโภคอาหารที่มีใบกัญชาเข้าไป เพจ “สมุนไพรอภัยภูเบศร” แนะนำให้หยุดทันที และดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำผึ้ง หรือชารางจืด เพื่อบรรเทาอาการมึนเมา หรือหากปากแห้ง คอแห้ง ก็ให้ดื่มน้ำตามมากๆ

ปรุงอย่างไร? ให้อร่อยและปลอดภัย

ในการนำใบกัญชามาปรุงอาหารนั้น หากเป็นการปรุงอาหารด้วยน้ำจะมีสาร THC (สารเมา) ละลายอยู่น้อยมาก ต่างจากการทอดด้วยน้ำมันที่จะส่งผลให้สาร THC จากใบละลายอยู่ในน้ำมันส่วนหนึ่งด้วย หรือหากใช้ระยะเวลาปรุงนานสาร THCA ก็จะเปลี่ยนเป็น THC ได้สมบูรณ์ขึ้น

และหากใช้ใบแห้งซึ่งมีสาร THC อยู่แล้ว เมื่อผ่านความร้อนสูงหรือมีส่วนประกอบไขมันสูง และมีระยะเวลาในการปรุงนาน ก็จะยิ่งทำให้ปริมาณสาร THC เพิ่มขึ้นได้

แต่ถ้าอยากรับประทานให้อร่อยและปลอดภัย รพ.อภัยภูเบศรแนะนำว่าให้กินใบสด กินเป็นผัก หรือกินเป็นน้ำคั้นสด และควรกินแบบที่ไม่ผ่านความร้อนๆ นานๆ เช่น การใส่ในเมนูผัดเหมือนใบกะเพรา

หากนำใบมาต้มตุ๋นเป็นน้ำแกง แนะนำให้กินแต่น้ำ ไม่กินใบที่ใส่ลงไป หรือถ้านำมาปรุงโดยผ่านความร้อน ก็ไม่ควรกินใบกัญชาทั้งใบเกิน 5-8 ใบ/วัน

ขอขอบคุณ

ข้อมูล :เฟซบุ๊กเพจ สมุนไพรอภัยภูเบศร

ภาพ :iStock

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า