ล้างผักผลไม้-เลือกเนื้อสัตว์อย่างไร ให้ปลอดภัยช่วงตรุษจีน

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แนะวิธีล้างผักผลไม้ และวิธีเลือกเนื้อสัตว์ในการนำมาประกอบอาหารช่วงไหว้เจ้าในเทศกาลตรุษจีนให้ปลอดภัยต่อร่างกาย

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เทศกาลตรุษจีน ถือเป็นเทศกาลที่มีความสำคัญของชาวไทยเชื้อสายจีน เป็นช่วงเวลาการไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษ มีการเตรียมซื้อวัตถุดิบอาหาร ผัก ผลไม้ ที่มีความหมายเป็นมงคล ซึ่งผลไม้ที่มีความหมายเป็นมงคล เช่น ส้ม องุ่น แอปเปิ้ล สาลี่ และกล้วย เป็นที่นิยมในเทศกาลนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงถึงคือสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่อาจตกค้างมากับผลไม้มงคลเหล่านี้

ข้อมูลการตรวจตัวอย่างผลไม้ 5 ชนิดข้างต้นในปี 2563-2564 ซึ่งเก็บจากแหล่งจำหน่ายในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ รวม 298 ตัวอย่าง ตรวจวิเคราะห์โดยใช้เครื่องมือขั้นสูงด้วยเทคนิค LC-MS/MS และ GC-MS/MS ตรวจสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้าง 132 ชนิด ผลการตรวจดังนี้  

  • ส้ม จำนวน 91 ตัวอย่าง พบการตกค้าง 71 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 78 สารที่ตรวจพบ ได้แก่  คลอร์ไพริฟอส โปรฟีโนฟอส ไซเพอร์เมทริน และคาร์เบนดาซิม 
  • องุ่น จำนวน 79 ตัวอย่าง พบการตกค้าง 36 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 46 สารที่ตรวจพบ ได้แก่ เมทโทมิล ไพริเมทานิล คลอร์ฟีนาเพอร์ และเมทาแล็กซิล
  • แอปเปิ้ล จำนวน 77 ตัวอย่าง พบการตกค้าง 20 ตัวอย่าง คิดเป็น ร้อยละ 26 สารที่ตรวจพบ ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส ไซเพอร์เมทริน แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน ไซฟลูทริน และไพริเมทานิล
  • สาลี่ จำนวน 37 ตัวอย่าง พบการตกค้าง 16 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 43 สารที่ตรวจพบ ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน ไบเฟนทริน คาร์เบนดาซิม และบูโพรเฟซิน
  • กล้วย จำนวน 14 ตัวอย่าง พบการตกค้างจำนวน 3 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 21 สารที่ตรวจพบ ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส 

จากการตรวจพบสารสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างดังกล่าว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้สื่อสารข้อมูลการตรวจพบนี้ ให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อประกอบการดำเนินงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป

วิธีล้างผักผลไม้ให้ปลอดสารตกค้าง

  1. ก่อนรับประทานผลไม้ทุกครั้ง ควรนำมาล้างทำความสะอาดสำหรับผลไม้ที่มีเปลือก เช่น ส้ม สาลี่ ให้แช่น้ำก่อนแล้วล้างด้วยน้ำไหลและใช้มือถูเปลือกไปพร้อมกัน 
  2. ผลไม้เปลือกบาง เช่น องุ่น ให้นำไปล้างด้วยน้ำไหลผ่านก่อน แล้วนำไปแช่ในน้ำสะอาดทั้งพวงโดยไม่ต้องเด็ดออกเป็นลูก เนื่องจากอาจจะทำให้สารเคมีที่ละลายอยู่ในน้ำซึมเข้าทางแผลที่ขั้วหรือเปลือกได้ 
  3. การปอกเปลือกออกก่อนรับประทานจะเป็นการลดปริมาณสารตกค้างได้ เป็นอย่างดีเพราะสารตกค้างส่วนใหญ่จะติดอยู่ที่เปลือกของผลไม้

การเลือกซื้อเนื้อสัตว์ให้ปลอดภัยในช่วงเทศกาล

นางจงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้ทรงคุณวุฒิแผนอาหารฯ สสส. ระบุถึงวิธีเลือกซื้อเนื้อสัตว์ให้ปลอดภัยต่อผู้บริโภคเอาไว้ ดังนี้Advertisement

  1. เนื้อหมูต้องมีสีชมพูสดถึงแดง แต่ต้องไม่แดงมาก 
  2. เนื้อละเอียดไม่หยาบ กลิ่นต้องเป็นไปตามธรรมชาติไม่มีกลิ่นเหม็นหืน 
  3. เมื่อใช้นิ้วกดเนื้อต้องคืนตัวได้ดีไม่เกิดรอยบุ๋มตามแรงกด 
  4. ไม่ควรซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว กลิ่นเหม็นรุนแรง หรือมีเมือกลื่น มีสีคล้ำ หรือเนื้อหมูที่สีซีดเกินไปและมีน้ำซึมไหลออกมาแสดงว่าเป็นเนื้อที่เสื่อมคุณภาพ
  5. เนื้อไก่ที่สดต้องสังเกตเนื้อที่มีสีชมพูเรื่อๆ ไม่มีสีแดงมาก หรือไม่ซีดเกินไปจนเป็นสีขาว 
  6. เนื้อต้องไม่แฟบแบน หนังมีสีขาวอมเหลือง เต่งตึงไม่เหี่ยวย่น 
  7. สังเกตที่ภาชนะบรรจุต้องไม่มีน้ำนองออกมาซึ่งแสดงว่าไก่ยังมีความสดอยู่ 
  8. ก่อนนำเนื้อหมู เนื้อไก่ ไปปรุงอาหาร ควรล้างให้สะอาดและปรุงสุก 100% ก่อนบริโภคทุกครั้ง เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคต่างๆ ที่อาจปนเปื้อนมากับเนื้อสัตว์ 
  9. ควรงดบริโภคเนื้อหมูที่สุกๆ ดิบๆ 
  10. แนะนำว่าควรเลือกซื้อสินค้าจากสถานที่จำหน่ายที่เชื่อถือได้ โดยสังเกตตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์OK” ทั้งในตลาดสดและห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศ

บริโภคอย่างไร ห่างไกลโรคในช่วงเทศกาลตรุษจีน

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. ระบุถึงหลัก  5 ประการสู่อาหารปลอดภัย (Five Keys to Safer Food Manual) ตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ประกอบด้วย 

  1. รักษาความสะอาด ต้องล้างมือก่อนบริโภคอาหาร และก่อนเตรียมอาหารทุกครั้ง บริเวณเตรียมอาหารต้องสะอาด โดยเฉพาะโต๊ะ เขียง เพื่อป้องกันจุลินทรีย์ที่อาจติดมาได้
  2. แยกอาหารที่ปรุงสุกแล้วออกจากอาหารดิบโดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อสัตว์และอาหารทะเล รวมถึงของเหลวจากเนื้อสัตว์ อาจมีเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนอยู่ สามารถแพร่กระจายไปสู่อาหารอื่นๆ ในขณะปรุงอาหารหรือเก็บอาหาร
  3. ปรุงอาหารให้สุกทั่วถึง ที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อ เนื้อไก่ ไข่ และอาหารทะเล ต้องสุกถึงด้านใน ซึ่งการปรุงที่ถูกวิธีและถูกสุขลักษณะจะทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายได้เกือบทุกชนิด
  4. เก็บอาหารในอุณหภูมิที่เหมาะสม โดยเชื้อจุลินทรีย์สามารถเพิ่มจำนวนได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ที่อุณหภูมิห้อง และจะหยุดเจริญหรือเพิ่มจำนวนช้าลง ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส
  5. ใช้น้ำสะอาดและวัตถุดิบที่ปลอดภัยในการปรุงอาหาร การเลือกวัตถุดิบในการปรุงอาหารอย่างถูกวิธีและการปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยเบื้องต้นจะลดความเสี่ยงจากการบริโภคสารปนเปื้อนในอาหาร

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า