อุทยานแห่งชาติทับลาน แหล่งมรดกโลก ป่าลานผืนสุดท้ายของประเทศไทย

อุทยานแห่งชาติทับลาน มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอปักธงชัย อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอครบุรี อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 1,387,375 ไร่ หรือ 2,235.80 ตารางกิโลเมตร เดิมประกาศเป็นป่าไม้ถาวร ตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๕๐๖ เพื่อสงวนคุ้มครองไว้ซึ่งพื้นที่ป่า ต่อมาจึงประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 3 ป่า ได้แก่ ป่าสงวนแห่งชาติป่าครบุรี ป่าสงวนแห่งชาติป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน และป่าสงวนแห่งชาติป่าวังน้ำเขียว

อุทยานแห่งชาติทับลาน ป่าลานผืนสุดท้ายของประเทศไทย

อุทยานแห่งชาติทับลาน มีสังคมพืชที่จัดเป็นป่าลุ่มต่ำที่มีความสมบูรณ์มาก มีสังคมพืชที่มีการซ้อนทับกันของลักษณะทางนิเวศวิทยาของป่าภาคกลาง กับนิเวศวิทยาของป่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไม้และสัตว์ป่าโดยเฉพาะบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติทับลาน ท้องที่ตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เป็นพื้นที่ที่มี ต้นลาน ป่าขึ้นกระจายพันธุ์ในพื้นที่อย่างหนาแน่น ซึ่งต้นลานจัดเป็นไม้ตระกูลปาล์ม เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นสูงประมาณ 10 – 26 เมตร จึงกล่าวได้ว่า ลานป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นป่าลานธรรมชาติผืนที่สมบูรณ์ที่สุด และผืนสุดท้ายของประเทศไทย

อุทยานแห่งชาติทับลาน บ้านหลังที่สองของเสือโคร่ง แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ

อุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 39 ของประเทศไทยมีสภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์ยิ่ง นอกจากป่าลาน ซึ่งหาดูได้ยากที่มีเฉพาะบางท้องที่ อุทยานแห่งชาติทับลาน ยังสมบูณณ์ด้วยป่าธรรมชาติ เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำ ลำธารต่าง ๆ และมีธรรมชาติที่สวยงาม เช่น หุบผา หน้าผา น้ำตก เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีเนื้อที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทย อุทยานแห่งชาติทับลานมีสังคมพืชที่จัดเป็นป่าลุ่มต่ำที่มีความสมบูรณ์มาก จัดเป็นสังคมพืชที่มีการซ้อนทับกันของลักษณะทางนิเวศของป่าภาคกลางและป่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ด้วยความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไม้ ประกอบไปด้วยป่าเต็งรัง ป่าผสมผลัดใบ และป่าดงดิบแล้ง และสัตว์ป่าหายาก โดยเฉพาะเสือโคร่ง ซึ่งเรียกได้ว่าป่าทับลาน เป็นบ้านหลังที่สองของเสือโคร่งในประเทศไทย รองจากกลุ่มป่าห้วยขาแข้ง – ทุ่งใหญ่นเรศวร จึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ กลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ จากยูเนสโก (UNESCO) ในปี พ.ศ. 2548 อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากที่ตั้งภายในกลุ่มป่า จะเห็นได้ว่าอุทยานแห่งชาติทับลานมีพื้นที่ตั้งอยู่บริเวณใจกลางของกลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลหากมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของพื้นที่อย่างมีนัยสำคัญที่ส่งผลกับความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณและสัตว์ป่าที่อยู่ภายในอุทยานแห่งชาติทับลานในอนาคต

พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ที่กำลังจะหายไป

ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 เห็นชอบแนวทางของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขตปี พ.ศ. 2543 ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งหากใช้แนวเขตดังกล่าวจะส่งผลให้สูญเสียพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน…ไปกว่า 265,000 ไร่ ….

ลงชื่อแสดงความคิดเห็น การกำหนดใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน

ทั้งนี้ อุทยาน​แห่งชา​ติทับลาน จะนำผลการแสดงความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการกำหนดพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ต่อไป 

ร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่ออนาคตของอุทยานแห่งชาติทับลาน และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยร่วมกันได้ตั้งแต่วันนี้ – 12 กรกฎาคม 2567 ผ่านช่องทาง

https://docs.google.com/…/1FAIpQLSdOxZiTKKlqQF…/viewform

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า